วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2558

จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผักกาดหัว

จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผักกาดหัว


                     ผักกาดหัว



ผักกาดหัว หรือชื่ออื่น ๆ เช่น หัวผักกาด, หัวไช้เท้า หรือ หัวไชเท้า) เป็นผักที่หลายประเทศนำมาทำอาหาร อย่างอาหารญี่ปุ่นก็นิยมนำหัวไช้เท้าดิบมาขูดฝอยลงในซีอิ๊ว ใช้เป็นน้ำจิ้ม เพราะชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าช่วยกระตุ้นน้ำย่อย หรืออย่างชาวจีนก็นำมาแปรรูปเป็นหัวไช้โป๊ไว้ทานตลอดปี ทางด้านวงการแพทย์แผนจีนมองว่า หัวไช้เท้าอยู่ในกลุ่มหยาง (yang) คือเป็นอาหารร้อน ไม่ควรทานเวลามีไข้ ส่วนในตำรายาพื้นบ้านอินเดียแนะว่า เมื่อทานแล้วจะช่วยให้นอนหลับรวมถึงแก้โรคประสาท


ผักกาดหัวสีขาว เป็นสปีชีส์ย่อยของ ผักกาดหัวสีแดง

ผักกาดหัว มีชื่ออื่น ๆ อีกเช่น ผักขี้หูด ผักกาดจีน ไช้โป๊ว หรือไช้เท้า เป็นต้น สามารถปลูกได้ดีในดินร่วนปนทราย ซึ่งมีความชื้นในดินสูงพอควร และได้รับแสงแดดตลอดวัน มีพีเอชประมาณ 5.5-7.0 และอุณหภูมิประมาณ 18.5-24 องศาเซลเซียส สามารถปลูกได้ผลดีที่สุด ในช่วงเดือนตุลาคม – มกราคม เป็นที่นิยมปลูกกันมากทางภาคตะวันตกของประเทศไทย เช่นแถบจังหวัดราชบุรี เพชรบุรีและกาญจนบุรี

ผักกาดหัวนิยมปลูกเพื่อใช้เป็นอาหารทั้งรับประทานสดหรือดองเค็ม (ไช้โป๊ว) เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูงพอควร คือ ในปริมาณ 100 กรัม จะให้โปรตีน 1 กรัม, คาร์โบไฮเดรท 3.6 กรัม, ไขมัน 0.1 กรัม, วิตามิน เอ 10 ไอ.ยู รวมทั้งพลังงาน 17 แคลลอรี่ นอกจากนี้ยังมีธาตุอาหารอื่น ๆ รวมอยู่อีกมาก
                              
                           
                 การปลูกผักกาดหัว






การเตรียมแปลง เนื่องจากผักกาดหัวเป็นพืชที่มีระบบรากลึก ควรขุดดินให้ลึกตั้งแต่ 10-12 นิ้วขึ้นไป และตากดินทิ้งไว้ 7-10 วันก่อนปลูก ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว อัตรา 1,500-2,000 กก.ต่อไร่ เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพของดินกรณีดินเป็นกรด ควรใส่ปูนเพื่อปรับระดับพีเอชของดินให้พอเหมาะกับผักกาดหัว จากนั้นจึงยกแปลงกว้างประมาณ 1 – 1.5 เมตร ยาวแล้วแต่พื้นที่ และความสะดวกในการปฎิบัติงาน ใส่ปุ๋ยเคมีตามอัตราส่วนที่แนะนำ พรวนดินหรือย่อยดินชั้นผิวหน้า เพื่อกลบปุ๋ยรองพื้นและให้ดินผิวหน้ามีขนาดเล็ก


การปลูก นิยมปลูก 2 แบบ

1. โรยเป็นแถว โดยการเจาะร่องตามความยาวของแปลง จำนวน 3 แถวต่อแปลง ระยะห่างเท่ากับ 30 – 45 ซม. ลึกประมาณ 1 – 1.2 ซม. โรยเมล็ดตามร่อง กลบด้วยขี้เถ้าแกลบ หรือดินผสมที่ละเอียดคลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้งรดน้ำให้ชุ่ม

2. หยอดหลุม โดยการเจาะหลุมปลูกระยะห่างระหว่างต้น 20 – 30 ซม. และระหว่างแถว 30 – 45 ซม. จำนวน 3 แถวต่อแปลง หยอดเมล็ด 3 – 5 เมล็ดต่อหลุม กลบด้วยขี้เถ้าแกลบ หรือดินผสมละเอียด คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง รดน้ำให้ชุ่ม

            พันธุ์ที่ใช้ปลูก







ผักกาดหัวแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

1. กลุ่มยุโรป ซึ่งเรียกกันว่า แรดิช ซึ่งส่วนของรากมีขนาดเล็กมาก ผิวสีแดงเข้ม ดำ หรือน้ำเงิน เนื้อภายในอาจเป็นสีขาว หรือสีแดง มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นประมาณ 18-25 วัน นิยมปลูกและบริโภคเป็นผักสลัดในแถบทวีปยุโรป และอเมริกา



2. กลุ่มอาเซีย เรียกกันว่า ผักกาดหัว ส่วนของรากที่ขยายใหญ่หรือหัวมีขนาดใหญ่ รูปทรงแตกต่างกันไป เช่น ทรงกลม, กระบอกกรวยยาว และยาวธรรมดา ขึ้นอยู่กับพันธุ์ ผิวของรากอาจเป็นสีขาวหรือสีแดงแต่เนื้อภายในสีขาว มีอายุการเก็บเกี่ยวยาวกว่ากลุ่มแรกคือพันธุ์เบาประมาณ 42-45 วัน และพันธุ์หนักประมาณ 60-65 วัน สามารถแยกออกได้เป็น 2 พวกคือ

2.1 พันธุ์แบบญี่ปุ่น ซึ่งมีลักษณะขอบใบหยักลึกเข้าไปตลอดใบ จะถี่มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์ ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์หนัก หรือปานกลาง

2.2 พันธุ์แบบจีน มีลักษณะขอบใบเรียบ ไม่มีรอยหยักหรือมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์เบา

พันธุ์ที่นิยมปลูกในบ้านเรานั้น เป็นพันธุ์กลุ่มเอเชียทั้ง 2 พวกดังกล่าว เช่น

ก. พันธุ์แม่โจ้ 1 (OW-1) มีลักษณะรูปทรงของหัวแบบทรงกรวยยาว ผิวเปลือกและเนื้อในสีขาว ยาวประมาณ 20-22 ซม. รสชาติไม่เผ็ดนัก ใบและขอบใบเรียบ ไม่มีหยัก หรือมีน้อย ไม่มีขนหรือหนามดอกสีขาว เป็นพันธุ์เบามีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 42 วัน หลังจากหยอดเมล็ด

ข. พันธุ์ เค.ย.- วัน ลักษณะรูปทรงของหัวแบบทรงกรวยยาว ผิวเปลือกและเนื้อในสีขาวเช่นกัน ยาวประมาณ 20.5 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4.5 ซม. และน้ำหนักต่อหัวโดยเฉลี่ยประมาณ 225 กรัม ใบเรียบไม่มีขน หรือหนาม ขอบใบเรียบและมีหยักเล็กน้อยบริเวณโคนก้านใบ ดอกสีขาว เหมาะสำหรับรับประทานสดมากกว่าดองเค็ม เป็นพันธุ์เบา มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 45-48 วัน หลังจากหยอดเมล็ด

ค. พันธุ์เอฟเวอเรส ไฮบริด มีขนาดของหัวโตสม่ำเสมอ ยาวประมาณ 30 – 35 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 6 – 7 ซม. ลักษณะใบเรียบ ไม่มีขน เป็นพันธุ์ปานกลาง มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 50 วัน หลังจากหยอดเมล็ด เป็นพันธุ์จากประเทศญี่ปุ่น


                  การปฎิบัติดูแลรักษา




1. การให้น้ำ ควรให้อย่างสม่ำเสมอและเพียงพอต่อความต้องการ ถ้าขาดน้ำจะทำให้ได้ขนาดและคุณภาพของหัวผักกาดเลวลง

2. การถอนแยก หลังจากปลูกได้ 7 – 10 วันหรือต้นกล้าเริ่มงอกมีใบจริง 2 – 3 ใบ ควรถอนแยกบ้างโดยถอนต้นที่อ่อนแอเป็นโรคหรือถูกแมลงทำลายทั้ง กรณีปลูกแบบโรยเป็นแถว ควรถอนแยกและจัดระยะห่างระหว่างต้น 20 – 30 ซม. ส่วนการปลูกแบบหยอดหลุมควรถอนให้เหลือหลุมละ 1 ต้น

3. การให้ปุ๋ย ปุ๋ยที่แนะนำให้ใช้กับผักกาดหัวนั้น นอกจากจะแนะนำให้ใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว อัตรา 1,500 – 2,000 กก.ต่อไร่ โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกใส่ก่อนปลูกปริมาณครึ่งหนึ่ง ครั้งที่สองเมื่อผักกาดหัวมีอายุ 20 – 25 วันหลังปลูก และปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟท (21-0-0) อัตรา 10 – 15 กก./ไร่ หลังปลูก 7 – 10 วัน โดยโรยข้างแถว และพรวนดินกลบลงไป

4. การพรวนดินและกำจัดวัชพืช ควรกระทำพร้อม ๆ กับการใส่ปุ๋ยทั้ง 2 ครั้งดังกล่าวคือ หลังปลูก 7 – 10 และ 20 – 25 วัน หลังปลูก ควรกระทำด้วยความระมัดระวัง เพราะถ้ารากกระทบกระเทือนมากเกินไป จะทำให้ผักกาดไม่ลงหัว

5. การป้องกันกำจัดโรค และแมลง

การแปรรูป
  
     กิมจิผักกาดหัว



เตรียมวัตถุดิบ
1.หัวไชเท้าประมาณ      5  กิโล     
2.กระเทียม                    100  กรัม      
3.เกลีอ                           200-400  กรัม       
5.น้ำปลา                        200-300  ml     
6.ขิง                               1/4  หัว
7.น้ำตาล                        1-2  ช้อน
8.พริกป่นเกาหลี             200-300  กรัม
9.แป้งข้าวเจ้า                 2 ช้อน ผสมน้ำ2แก้ว  (ต้มไฟให้เดือด และทิ้งไว้ให้เย็น)
10.ต้นหอม                     150   กรัม

ขั้นตอนการทำมีดังนี้
1.นำหัวไชเท้าไปล้างทำความสะอาดและปอกเปลือกนำมาหั่นเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า




2.นำหัวไชเท้าที่หั่นเสร็จแล้วไปคลุกเคล้ากับเกลือเพื่อขับน้ำออกจากหัวไชเท้าถือเป็นการถนอมอาหารด้วยค่ะ



3.ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมงให้ขับน้ำออกและล้างออกด้วยน้ำสะอาด
4.บีบน้ำออกจากหัวไชเท้าให้หมดหรือทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ



5.เอาต้นหอมมาหั่นเป็นท่อนเล็กๆ
6.นำกระเทียมกับขิงมาปั่นรวมกัน 
7.เอาแป้งที่เตียมไว้ใส่ภาชนะและเอาหัวไชเท้าที่สะเด็ดน้ำมาใส่เติมพริกป่น

 

8.ใส่ต้นหอมที่หั่นลงไปและ กระเทียมกับขิงที่ปั่นแล้วเติมน้ำปลา น้ำตาล ปรุง  รสตามชอบคลุกเคล้าให้ทั่วเป็นอันเสร็จพิธี
                    
     

          

          ไชโป้วเค็ม




วิธีการทำหัวไชโป้วเค็ม สำหรับครัวเรือน (หัวผักกาดดองเค็ม)


วิธีการทำไชโป้วเค็ม สำหรับครัวเรือน (การแปรรูปผักกาดหัว)

                ผักกาดหัวหรือหัวไชเท้า (Raphanus sativus Linn) เป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกง่าย เติบโตเร็ว แต่มีข้อเสียว่า เมื่อถึงกำหนดเก็บเกี่ยวแล้วจะต้องถอนหัวขึ้นมาทันที เพราะหากปล่อยไว้จะทำให้หัวฟ่ามขายได้ราคาต่ำ เหตุนี้จึงทำให้เกษตรกรต้องรีบขายหัวผักกาดนี้ไปโดยเร็ว ถึงแม้จะได้ราคาน้อยก็ตาม  การแปรรูปผักกาดหัวให้เป็นผักกาดเค็ม ผักกาดดองหวานที่เรียกว่าหัวไชโป้ว เป็นวิธีถนอมอาหารอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องรีบขายหัวผักกาดให้แก่พ่อค้าไปในราคาถูก หัวผักกาดเค็มเป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมรับประทานกันมาก และยังสามารถเก็บไว้บริโภคได้ทั้งปีหลังจากที่เหลือจากการจำหน่ายแล้ว

อุปกรณ์และวิธีทำ
วัตถุดิบ
                1. หัวผักกาดสด หัวผักกาดที่เหมาะในการทำหัวผักกาดเค็ม ควรจะเป็นหัวผักกาดที่ยังใหม่อ่อนและสด ควรเป็นพันธุ์หนักเพราะเป็นพันธุ์ที่มีเนื้อแน่น เมื่อแปรรูปแล้วจะได้หัวไชโป้วที่มีลักษณะตรงกับความต้องการของตลาด เก็บเกี่ยวในช่วงอายุระหว่าง 42-48 วัน หลังปลูก
                2. เกลือแกง (เกลือสมุทร)
                3. น้ำสะอาด
อุปกรณ์
                1. มีด , แปรงขนนุ่ม
                2. ภาชนะ เช่น โถแก้วหรือภาชนะเคลือบ สำหรับบรรจุหัวผักกาดเค็ม
                3. กระด้ง
                4. ถุงผ้า
วิธีทำ

การทำหัวผักกาดเค็ม

                1. นำหัวผักกาดสดมาตัดขั้วหัวท้ายออก ใช้แปรงถูผิวเบาๆ ล้างดินออกจนสะอาด
                2. นำหัวผักกาดแช่ในน้ำเกลือ 26% (เกลือ1ส่วนต่อ น้ำ 3ส่วน) หาของหนักๆทับหน้ากันผักโผล่พ้นน้ำ
                  แช่ทิ้งไว้หนึ่งคืน (เกลือ11/4ถ้วยตวง ต่อ น้ำ 33/4ถ้วยตวง)
                3. นำหัวผักกาดมาคลึงกับเกลือบนตะแกรงหรือกระด้ง ให้เกลือเข้าเนื้อ แล้วนำไปผึ่งแดดทั้งวัน
                4. รุ่งขึ้นให้เอาเกลือใส่อีกเล็กน้อยแล้วคลึง นำไปตากแดด (หมั่นพลิกไปมา) ตอนเย็นเก็บใส่ถุงผ้าหนา ๆ หรือตาข่าย ทับด้วยของหนัก ๆ ให้น้ำตก ทำเช่นนี้สัก 2-3 วัน
               5. พอหัวผักกาดเริ่มเป็นสีน้ำตาลและแบนลงสักครึ่งหนึ่ง ให้ตากแดดต่อไปอีกจนเป็นสีน้ำตาลแก่ ใช้ระยะเวลาประมาณ 7 วัน (หากต้องการให้ผักเป็นเร็วขึ้น สามารถหั่นหัวผักกาดสดเป็น 4 ท่อนตามยาว ก่อนนำมาทำเค็ม)
               6. นำหัวผักกาดที่ได้นี้บรรจุใส่โถแก้วหรือภาชนะเคลือบ ปิดฝา สามารถเก็บไว้บริโภคได้นาน
               7. เมื่อต้องการบริโภค ให้นำหัวผักกาดเค็มมาล้างน้ำให้สะอาด ถ้าเค็มเกินไปจะแช่น้ำทิ้งไว้สักพักหนึ่ง หรือถ้าต้องการให้กรอบนานยิ่งขึ้น อาจแช่แคลเซียมคลอไรด์ ร้อยละ 0.3-0.5 แล้วตัดแต่งอีกให้สวยงามหรือเป็นชิ้นตามต้องการ ล้างน้ำอีกครั้ง ผึ่งไว้บนตะแกรงจนสะเด็ดน้ำ จึงนำไปประกอบอาหาร

ไชเท้าสดแช่น้ำเกลือ
ไชเท้าสดแช่น้ำเกลือ 7 วัน
ไชเท้าสดคลุกเกลือ
ตากแดดไชเท้า ใช้ตาข่ายคลุม หาของหนักทับ
ไชโป้วตากแดด 7 วัน
ไชโป้วเค็ม ตากแดดจนเกือบแห้ง เป็นเวลาประมาณ 7 วัน

การทำหัวผักกาดดองหวาน

ส่วนผสม
  1. หัวผักกาดเค็ม 400 กรัม
  2. น้ำตาลทราย 350 กรัม
  3. น้ำส้มสายชู 1 ช้อนชา
  4. น้ำใบเตย หรือน้ำเปล่า 300 กรัม
  5. เกลือ 15 กรัม (ปรับลดได้ตามชอบ)
                1. นำหัวผักกาดที่ทำเค็มแล้ว ประมาณ 400 กรัม มาล้างน้ำให้สะอาด ถ้าเค็มเกินไปจะแช่น้ำทิ้งไว้สักพักหนึ่ง (อาจหั่นผักเป็นท่อนยาวๆก่อน เพื่อที่จะได้จืดเร็วขึ้น) หรือถ้าต้องการให้กรอบนานยิ่งขึ้น ควรแช่แคลเซียมคลอไรด์ ร้อยละ 0.3-0.5 แล้วตัดแต่งอีกให้สวยงามหรือเป็นชิ้นตามต้องการ ล้างน้ำอีกครั้ง ผึ่งไว้บนตะแกรงจนสะเด็ดน้ำ (หรืออาจหาของหนักๆทับให้น้ำออก)
                2. เตรียมน้ำเชื่อม เตรียมน้ำตาลทราย 200 กรัม น้ำส้มสายชู 1 ช้อนชา น้ำใบเตยหรือน้ำเปล่า 300 กรัม เกลือ 15กรัม เทส่วนผสมทั้งหมดใส่ในหม้อต้ม เปิดไฟกลาง อุ่นแค่พอเดือด ตั้งทิ้งไว้ให้อุ่นๆ แล้วเทลงไปในโถจนท่วมหัวผักกาด แช่ทิ้งไว้หนึ่งคืน
                3. เทเฉพาะน้ำเชื่อมออกมา เติมน้ำตาลทราย 75 กรัม ต้มอุ่นแค่พอเดือด ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น แล้วเทลงไปในโถจนท่วมหัวผักกาด แช่ทิ้งไว้หนึ่งคืน
             4. เทเฉพาะน้ำเชื่อมออกมา เติมน้ำตาลทราย 75 กรัม ต้มอุ่นแค่พอเดือด ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น แล้วเทลงไปในโถจนท่วมหัวผักกาด แช่ทิ้งไว้หนึ่งคืน
                4. อุ่นน้ำปรุงรสทุกวัน ทิ้งไว้จนเย็นแล้วจึงนำหัวผักกาดแช่ลงไปใหม่ ทำเช่นนี้ทุกวันจนน้ำงวดไปมากๆ  หรือจนกระทั่งได้ความหวานตามที่ต้องการ
              5.  นำหัวผักกาดขึ้นผึ่งให้สะเด็ดน้ำ แล้วบรรจุถุงจำหน่ายหรือไว้ใช้รับประทานต่อไป

การทำหัวผักกาดแก้ว

                1. ล้างหัวผักกาดสดให้สะอาด ใช้แปรงถูเปลือกเบาๆ หั่นเป็นแว่นครึ่งวงกลมบาง 2-3 มม.
                2. แช่น้ำปูนใสประมาณ 1 ชั่วโมง ตักขึ้นให้สะเด็ดน้ำ
              3. เตรียมแว่นหัวผักกาดที่ได้ 800 กรัม น้ำตาลทราย 400 กรัม น้ำส้มสายชู 70 กรัม น้ำใบเตยหรือดอกคำฝอย 150 กรัม เกลือครึ่งช้อนชา เทส่วนผสมทั้งหมดคลุกเคล้าให้เข้ากัน ปิดฝา ทิ้งไว้หนึ่งคืน
                4. เทเฉพาะน้ำเชื่อมออกมาอุ่นแค่พอเดือด   ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น แล้วเทลงไปในโถจนท่วมหัวผักกาด แช่ทิ้งไว้หนึ่งคืน
                5. อุ่นน้ำปรุงรสทุกวัน ทิ้งไว้จนเย็นแล้วจึงนำหัวผักกาดแช่ลงไปใหม่ ทำเช่นนี้ทุกวันจนน้ำงวดไปมากๆ จึงนำมารับประทานได้ นานๆเอาไปอุ่นสักครั้งเพื่อป้องกันการบูดเน่า
                6. การแปรรูปหัวผักกาดนี้นับว่าเป็นประโยชน์กับเกษตรกรอย่างมาก ทำให้เกษตรกรไม่จำต้องรับขายผักกาดหัวให้แก่พ่อค้าคนกลางในราคาที่ไม่เป็นธรรมอีกต่อไป

ที่มาของข้อมูล : http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-2/vegetables/19.html
                      http://www.gaifood.com/articles/42215048/.html
                      http://www.vegetweb.com/
                      http://latbualuang.ayutthaya.doae.go.th/data/4data002.htm
                      http://www.oknation.net/blog/thaithai/2009/01/26/entry-1

วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ต้นกระทุ่มบก

กระทุ่มบก


กระทุ่มบก (Kradembak)
ชื่อวิทยาศาสตร์   Anthocephalus chinensis (Lam.) A.Rich.ex Walp.
ชื่อวงศ์                 RUBIACEAE
ชื่ออื่น                   ตะกู ตะโกส้ม ตุ้มขี้หมู ตุ้มหลวง ทุ่มพราย
ถิ่นกำเนิด             ประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทั่วไป       ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-20 ม. ขนาดทรงพุ่ม 8-12 ม.ผลัดใบ ทรงพุ่มกลม กิ่งก้านเรียวเล็กลู่ลง ตายอดมีขนาดใหญ่ กลมและแบน ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อน หรือเทา เรียบ หรือแตกขนาดตื้นๆ ตามแนวยาวและมีรอยแผลของกิ่ง
ต้นกระทุ่ม                                                                                                                                             จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบหรือไม่ผลัดขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 15-30 เมตร บางครั้งมีพูพอน ลำต้นเปลาตรง แตกกิ่งก้านตั้งฉากกับลำต้น ปลายกิ่งโน้มลง เปลือกลำต้นเป็นสีเทาแก่ แตกเป็นร่องตามยาว มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง โดยสามารถพบได้ตั้งแต่ประเทศเนปาล บัลคลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย พม่า จีน ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ไปจนถึงฟิลิปปินส์และปาปัวนิวกินี ส่วนในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค โดยมักจะขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง หรือตามหุบเขาหรือริมลำธารที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500-1,500 เมตร

ใบกระทุ่ม                                                                                                                                             ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขาน ปลายใบมนออกแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบมน กลม หรือเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 7-17 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20 เซนติเมตร แผ่นใบบางและเหนียว หลังใบเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบมีขนสั้นนุ่มหรือบางทีเกลี้ยง มีเส้นแขนงของใบประมาณ 11-20 คู่ ส่วนก้านใบยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร และมีหูใบลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร

ดอกกระทุ่ม         
        ออกดอกที่ปลายกิ่งเป็นช่อกลมกระจุกแน่น มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 เซนติเมตร ก้านช่อยาวประมาณ 1.5-4 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็กอัดกันแน่น ติดบนใบประดับขนาดเล็กประมาณ 1-3 คู่ กลีบเลี้ยงดอกมีลักษณะเป็นหลอดสั้น ยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นกลีบ ยาวเท่า ๆ หลอดกลีบ กลีบดอกเป็นสีเหลือง หลอดกลีบยาวประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกยาวประมาณ 0.2-0.3 เซนติเมตร อับเรณูมีลักษณะเป็นรูปแถบ ยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร รังไข่สูงประมาณ 0.4 เซนติเมตร ก้านเกสรรวมยอดเกสรยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ดอกมีกลีบดอกสีขาว 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปหลอดหลอด ปลายกลีบหยักแมนแผ่ขยายออกและมีขนนุ่ม ๆ ทางด้านนอก และยังมีกลีบเลี้ยงดอก 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 5 อัน 

ผลกระทุ่ม
          ผลแห้งแตก เป็นผลรวมอัดกันเป็นทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 4-5 ซม. สีเขียวอมนํ้าตาล เมื่อสุกสีนํ้าตาล เมล็ดสีนํ้าตาลขนาดเล็ก 1 เมล็ดต่อผลย่อย ติดผลเดือน ก.ค.- ส.ค.ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด



สรรพคุณของกระทุ่ม

  • ช่วยลดความดันโลหิต (ใบและเปลือก)
  • ใบและเปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ (ใบและเปลือกต้น)
  • น้ำต้มจากใบและเปลือกต้น ใช้อมกลั้วคอแก้อาการอักเสบของเยื่อเมือกในปาก (ใบและเปลือกต้น)
  • ใช้เป็นยารักษาโรคในลำไส้ ด้วยการใช้ใบและเปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำเป็นยากิน (ใบและเปลือกต้น)
  • ผลใช้เป็นยาฝาดสมานในโรคท้องร่วง (ผล)ช่วยแก้อาการปวดมดลูก ด้วยการใช้ใบและเปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยากิน (ใบและเปลือกต้น)
  • ข้อมูลจากฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาอุบลราชธานี ระบุไว้ว่าในส่วนรากใช้ฝนหรือต้มรับประทานเป็นยาเย็นช่วยดับพิษไข้ทั้งปวง แก้ตัวร้อน ช่วยดับพิษวัณโรค และดับพิษตานซางในเด็ก

ประโยชน์ของต้นกระทุ่ม

  • ไม้กระทุ่ม มีเนื้อไม้ที่ละเอียด สีเหลืองหรือสีขาว สามารถนำมาใช้ทำพื้นและฝาที่ใช้งานร่ม หรือนำมาใช้ทำกล่อง ทำอุปกรณ์หรือสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่มีน้ำหนักเบา และยังสามารถนำมาใช้ทำเป็นเยื่อกระดาษได้อีกด้วย
  • ในประเทศจีนและเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะนิยมปลูกเป็นสวนป่าเพื่อการใช้สอย ส่วนในประเทศไทยกำลังได้รับความนิยมเป็นไม้เศรษฐกิจตัวใหม่ ให้ผลตอบแทนเร็ว เนื่องจากเป็นไม้โตเร็ว (นิยมเรียกว่าต้นตะกู หรือตะกูยักษ์)
ข้อมูลเพิ่มเติม

เอ่ยถึง ‘ดอกกระทุ่ม’ เชื่อว่าคนรุ่นใหม่คงไม่รู้จัก ยิ่งเป็น ‘ผมทรงดอกกระทุ่ม’ แล้ว เกือบทั้งร้อยส่ายหน้า บอกว่าไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน (รู้จักแต่ทรงสกินเฮดด์-ผมสั้นเกรียนติดหนังหัว) แต่สำหรับสาวๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทุกคนต้องไว้ผมทรงดอกกระทุ่มกันทั้งบ้านทั้งเมือง ตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่ได้มีการปรับปรุงขึ้นใหม่ 

         
กระทุ่ม มาจากคำว่า ‘กทัมพะ’ ในภาษาบาลี มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Anthocephalus chinensis (Lamk.) A. Rich. ex Walp. อยู่ในวงศ์ Rubiaceae และมีชื่อพื้นเมืองที่เรียกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย เช่น กระทุ่มบก, โกหว่า, ตะกู, ตะโกส้ม, ตุ้มก้านยาว, ตุ้มเนี่ยง, ตุ้มหลวง, ตุ้มพราย เป็นต้น กระทุ่มบกเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตรง สูงราว 15-30 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมใบ เป็นใบเดี่ยว รูปไข่ ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน และมีหูใบรูปสามเหลี่ยมอยู่ระหว่างโคนก้านใบ ดอกสีเหลืองอ่อนออกเป็นช่อกลม กระจุกแน่นตามปลายกิ่ง มีกลิ่นหอม ซึ่งจะส่งกลิ่นหอมในราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ผลมีลักษณะกลม เป็นผลย่อย ออกเป็นกระจุก เกิดจากวงกลีบรองดอกของแต่ละดอกเชื่อมติดกัน ผลจะสุกราวเดือนสิงหาคม-ตุลาคม แต่ละผลมีเมล็ด ขนาดเล็กมากมาย และจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและสีน้ำตาลเมื่อแก่ ต้นกระทุ่มเป็นไม้ที่เจริญเติบโตรวดเร็วมากเมื่อเทียบกับไม้อื่นๆ พบในหลายประเทศ เช่น อินเดีย เนปาล บังคลาเทศ ศรีลังกา พม่า จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศในภูมิภาคอินโดจีน ขึ้นตามป่าดิบและป่าเบญจพรรณที่ชุ่มชื้น ใกล้น้ำ ที่ระดับความสูง 500-1,500 เมตร

ปัจจุบันนิยมปลูกเป็นสวนป่าเพื่อการใช้สอย เพราะเนื้อไม้ของกระทุ่มมีความละเอียด มีสีเหลืองหรือขาว และมีคุณสมบัติแห้งเร็วมาก อีกทั้งมีลำต้นตรง เหมาะในการทำฝาบ้าน ทำประตู หน้าต่าง เพดาน กระดาน ทำกล่องต่างๆ ทำเยื่อกระดาษ รวมทั้งอุปกรณ์ตกแต่งอื่นๆ

ในพระไตรปิฏกได้แสดงภูมิที่เกิดของมนุษย์ว่า ‘มนุสสภูมิ’ คือที่เกิดของมนุษย์นั้น มี 4 ทวีป คือ
1. ปุพพวิเทหทวีป อยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาสิเนรุ
2. อมรโคยานทวีป อยู่ทางทิศตะวันตกของภูเขาสิเนรุ
3. ชมพูทวีป (คือโลกนี้) อยู่ทางทิศใต้ของภูเขาสิเนรุ
4. อุตตรกุรุทวีป อยู่ทางทิศเหนือของภูเขาสิเนรุ

ส่วนในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงกระทุ่มว่าเป็นต้นไม้ประจำอมรโคยานทวีป รวมทั้งต้นไม้ประจำทวีปอื่นๆ ในหัวข้อ ‘ขนาดภูเขาสิเนรุและต้นไม้ประจำทวีป’ ไว้ดังนี้ “อนึ่ง ในจักรวาลที่ตั้งอยู่พร้อมมูลอย่างนี้นั้น มีภูเขาสิเนรุอันเป็นภูเขาสูงที่สุด หยั่ง ( ลึก) ลงไปในมหาสมุทร 84,000 โยชน์สูงขึ้นไป (ในฟ้า) ก็ประมาณเท่ากันนั้น ภูเขาใหญ่ทั้งหลาย คือภูเขายุคันธร ภูเขาอิสินธร ภูเขากรวีกะ ภูเขาสุทัสสนะ ภูเขาเนมินธระ ภูเขาวินตกะ ภูเขาอัสสกัณณะ อันตระการไปด้วยรัตนะหลากๆ ราวกะภูเขาทิพย์ หยั่ง (ลึก) ลงไป (ในมหาสมุทร ) และสูงขึ้นไป (ในฟ้า) โดยประมาณกึ่งหนึ่งแต่ประมาณแห่งภูเขาสิเนรุไปตามลำดับ ภูเขาใหญ่ทั้ง 7 นั้น (ตั้งอยู่) โดยรอบ ภูเขาสิเนรุเป็นที่อยู่ของจาตุมหาราช เป็นที่ที่เทวดาและยักษ์อาศัยอยู่

ภูเขาหิมวาสูง 500 โยชน์ ยาวและกว้าง 3,000 โยชน์ (เท่ากัน) ประดับไปด้วยยอดถึง 84,000 ยอด ต้นชมพู (หว้า) ชื่อนคะ วัดรอบลำต้นได้ 15 โยชน์ ลำต้นสูง 50 โยชน์ และกิ่ง (แต่ละกิ่ง) ก็ยาว 50 โยชน์ แผ่ออกไปวัดได้ 100 โยชน์โดยรอบ และสูงขึ้นไปก็เท่ากันนั้น ด้วยอานุภาพของต้นชมพู (นี้) ไรเล่า ทวีปนี้จึงถูกประกาศชื่อว่า ชมพูทวีป ก็แลขนาดของต้นชมพูนี้ใด ขนาดนั้นนั่นแหละเป็นขนาดของต้นจิตรปาฏลี (แคฝอย) ของพวกอสูร ต้นสิมพลี (งิ้ว) ของพวกครุฑ ต้นกทัมพะ (กระทุ่ม) ในอมรโคยานทวีป ต้นกัปปะในอุตตรกุรุทวีป ต้นสิรีระ (ซึก) ในบุพพวิเทหทวีป ต้นปาริฉัตตกะในดาวดึงส์...” 




ที่มาของข้อมูล  :   http://frynn.com/กระทุ่มบก
                                 http://www.thaikasetsart.com/
                                 http://www.doctor.or.th/article/detail/1920
                                 http://www.biogang.net/biodiversity_view.php?   
menu=biodiversity&uid=27700&id=159782
                                 http://www.kroobannok.com/53976
                                 http://www.dnp.go.th/botany/detail.aspx?words=%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1&typeword=group