กระทุ่มบก
กระทุ่มบก (Kradembak)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Anthocephalus chinensis (Lam.) A.Rich.ex Walp.
ชื่อวงศ์ RUBIACEAE
ชื่ออื่น ตะกู ตะโกส้ม ตุ้มขี้หมู ตุ้มหลวง ทุ่มพราย
ถิ่นกำเนิด ประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-20 ม. ขนาดทรงพุ่ม 8-12 ม.ผลัดใบ ทรงพุ่มกลม กิ่งก้านเรียวเล็กลู่ลง ตายอดมีขนาดใหญ่ กลมและแบน ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อน หรือเทา เรียบ หรือแตกขนาดตื้นๆ ตามแนวยาวและมีรอยแผลของกิ่ง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Anthocephalus chinensis (Lam.) A.Rich.ex Walp.
ชื่อวงศ์ RUBIACEAE
ชื่ออื่น ตะกู ตะโกส้ม ตุ้มขี้หมู ตุ้มหลวง ทุ่มพราย
ถิ่นกำเนิด ประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-20 ม. ขนาดทรงพุ่ม 8-12 ม.ผลัดใบ ทรงพุ่มกลม กิ่งก้านเรียวเล็กลู่ลง ตายอดมีขนาดใหญ่ กลมและแบน ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อน หรือเทา เรียบ หรือแตกขนาดตื้นๆ ตามแนวยาวและมีรอยแผลของกิ่ง
ต้นกระทุ่ม จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบหรือไม่ผลัดขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 15-30 เมตร บางครั้งมีพูพอน ลำต้นเปลาตรง แตกกิ่งก้านตั้งฉากกับลำต้น ปลายกิ่งโน้มลง เปลือกลำต้นเป็นสีเทาแก่ แตกเป็นร่องตามยาว มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง โดยสามารถพบได้ตั้งแต่ประเทศเนปาล บัลคลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย พม่า จีน ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ไปจนถึงฟิลิปปินส์และปาปัวนิวกินี ส่วนในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค โดยมักจะขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง หรือตามหุบเขาหรือริมลำธารที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500-1,500 เมตร
ใบกระทุ่ม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขาน ปลายใบมนออกแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบมน กลม หรือเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 7-17 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20 เซนติเมตร แผ่นใบบางและเหนียว หลังใบเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบมีขนสั้นนุ่มหรือบางทีเกลี้ยง มีเส้นแขนงของใบประมาณ 11-20 คู่ ส่วนก้านใบยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร และมีหูใบลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร
ออกดอกที่ปลายกิ่งเป็นช่อกลมกระจุกแน่น มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 เซนติเมตร ก้านช่อยาวประมาณ 1.5-4 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็กอัดกันแน่น ติดบนใบประดับขนาดเล็กประมาณ 1-3 คู่ กลีบเลี้ยงดอกมีลักษณะเป็นหลอดสั้น ยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นกลีบ ยาวเท่า ๆ หลอดกลีบ กลีบดอกเป็นสีเหลือง หลอดกลีบยาวประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกยาวประมาณ 0.2-0.3 เซนติเมตร อับเรณูมีลักษณะเป็นรูปแถบ ยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร รังไข่สูงประมาณ 0.4 เซนติเมตร ก้านเกสรรวมยอดเกสรยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ดอกมีกลีบดอกสีขาว 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปหลอดหลอด ปลายกลีบหยักแมนแผ่ขยายออกและมีขนนุ่ม ๆ ทางด้านนอก และยังมีกลีบเลี้ยงดอก 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 5 อัน
ผลกระทุ่ม
ผลแห้งแตก เป็นผลรวมอัดกันเป็นทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 4-5 ซม. สีเขียวอมนํ้าตาล เมื่อสุกสีนํ้าตาล เมล็ดสีนํ้าตาลขนาดเล็ก 1 เมล็ดต่อผลย่อย ติดผลเดือน ก.ค.- ส.ค.ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
สรรพคุณของกระทุ่ม
- ช่วยลดความดันโลหิต (ใบและเปลือก)
- ใบและเปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ (ใบและเปลือกต้น)
- น้ำต้มจากใบและเปลือกต้น ใช้อมกลั้วคอแก้อาการอักเสบของเยื่อเมือกในปาก (ใบและเปลือกต้น)
- ใช้เป็นยารักษาโรคในลำไส้ ด้วยการใช้ใบและเปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำเป็นยากิน (ใบและเปลือกต้น)
- ผลใช้เป็นยาฝาดสมานในโรคท้องร่วง (ผล)ช่วยแก้อาการปวดมดลูก ด้วยการใช้ใบและเปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยากิน (ใบและเปลือกต้น)
- ข้อมูลจากฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาอุบลราชธานี ระบุไว้ว่าในส่วนรากใช้ฝนหรือต้มรับประทานเป็นยาเย็นช่วยดับพิษไข้ทั้งปวง แก้ตัวร้อน ช่วยดับพิษวัณโรค และดับพิษตานซางในเด็ก
ประโยชน์ของต้นกระทุ่ม
- ไม้กระทุ่ม มีเนื้อไม้ที่ละเอียด สีเหลืองหรือสีขาว สามารถนำมาใช้ทำพื้นและฝาที่ใช้งานร่ม หรือนำมาใช้ทำกล่อง ทำอุปกรณ์หรือสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่มีน้ำหนักเบา และยังสามารถนำมาใช้ทำเป็นเยื่อกระดาษได้อีกด้วย
- ในประเทศจีนและเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะนิยมปลูกเป็นสวนป่าเพื่อการใช้สอย ส่วนในประเทศไทยกำลังได้รับความนิยมเป็นไม้เศรษฐกิจตัวใหม่ ให้ผลตอบแทนเร็ว เนื่องจากเป็นไม้โตเร็ว (นิยมเรียกว่าต้นตะกู หรือตะกูยักษ์)
ข้อมูลเพิ่มเติม
เอ่ยถึง ‘ดอกกระทุ่ม’ เชื่อว่าคนรุ่นใหม่คงไม่รู้จัก ยิ่งเป็น ‘ผมทรงดอกกระทุ่ม’ แล้ว เกือบทั้งร้อยส่ายหน้า บอกว่าไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน (รู้จักแต่ทรงสกินเฮดด์-ผมสั้นเกรียนติดหนังหัว) แต่สำหรับสาวๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทุกคนต้องไว้ผมทรงดอกกระทุ่มกันทั้งบ้านทั้งเมือง ตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่ได้มีการปรับปรุงขึ้นใหม่
กระทุ่ม มาจากคำว่า ‘กทัมพะ’ ในภาษาบาลี มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Anthocephalus chinensis (Lamk.) A. Rich. ex Walp. อยู่ในวงศ์ Rubiaceae และมีชื่อพื้นเมืองที่เรียกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย เช่น กระทุ่มบก, โกหว่า, ตะกู, ตะโกส้ม, ตุ้มก้านยาว, ตุ้มเนี่ยง, ตุ้มหลวง, ตุ้มพราย เป็นต้น กระทุ่มบกเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตรง สูงราว 15-30 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมใบ เป็นใบเดี่ยว รูปไข่ ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน และมีหูใบรูปสามเหลี่ยมอยู่ระหว่างโคนก้านใบ ดอกสีเหลืองอ่อนออกเป็นช่อกลม กระจุกแน่นตามปลายกิ่ง มีกลิ่นหอม ซึ่งจะส่งกลิ่นหอมในราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ผลมีลักษณะกลม เป็นผลย่อย ออกเป็นกระจุก เกิดจากวงกลีบรองดอกของแต่ละดอกเชื่อมติดกัน ผลจะสุกราวเดือนสิงหาคม-ตุลาคม แต่ละผลมีเมล็ด ขนาดเล็กมากมาย และจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและสีน้ำตาลเมื่อแก่ ต้นกระทุ่มเป็นไม้ที่เจริญเติบโตรวดเร็วมากเมื่อเทียบกับไม้อื่นๆ พบในหลายประเทศ เช่น อินเดีย เนปาล บังคลาเทศ ศรีลังกา พม่า จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศในภูมิภาคอินโดจีน ขึ้นตามป่าดิบและป่าเบญจพรรณที่ชุ่มชื้น ใกล้น้ำ ที่ระดับความสูง 500-1,500 เมตร
ปัจจุบันนิยมปลูกเป็นสวนป่าเพื่อการใช้สอย เพราะเนื้อไม้ของกระทุ่มมีความละเอียด มีสีเหลืองหรือขาว และมีคุณสมบัติแห้งเร็วมาก อีกทั้งมีลำต้นตรง เหมาะในการทำฝาบ้าน ทำประตู หน้าต่าง เพดาน กระดาน ทำกล่องต่างๆ ทำเยื่อกระดาษ รวมทั้งอุปกรณ์ตกแต่งอื่นๆ
ในพระไตรปิฏกได้แสดงภูมิที่เกิดของมนุษย์ว่า ‘มนุสสภูมิ’ คือที่เกิดของมนุษย์นั้น มี 4 ทวีป คือ
1. ปุพพวิเทหทวีป อยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาสิเนรุ
2. อมรโคยานทวีป อยู่ทางทิศตะวันตกของภูเขาสิเนรุ
3. ชมพูทวีป (คือโลกนี้) อยู่ทางทิศใต้ของภูเขาสิเนรุ
4. อุตตรกุรุทวีป อยู่ทางทิศเหนือของภูเขาสิเนรุ
ส่วนในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงกระทุ่มว่าเป็นต้นไม้ประจำอมรโคยานทวีป รวมทั้งต้นไม้ประจำทวีปอื่นๆ ในหัวข้อ ‘ขนาดภูเขาสิเนรุและต้นไม้ประจำทวีป’ ไว้ดังนี้ “อนึ่ง ในจักรวาลที่ตั้งอยู่พร้อมมูลอย่างนี้นั้น มีภูเขาสิเนรุอันเป็นภูเขาสูงที่สุด หยั่ง ( ลึก) ลงไปในมหาสมุทร 84,000 โยชน์สูงขึ้นไป (ในฟ้า) ก็ประมาณเท่ากันนั้น ภูเขาใหญ่ทั้งหลาย คือภูเขายุคันธร ภูเขาอิสินธร ภูเขากรวีกะ ภูเขาสุทัสสนะ ภูเขาเนมินธระ ภูเขาวินตกะ ภูเขาอัสสกัณณะ อันตระการไปด้วยรัตนะหลากๆ ราวกะภูเขาทิพย์ หยั่ง (ลึก) ลงไป (ในมหาสมุทร ) และสูงขึ้นไป (ในฟ้า) โดยประมาณกึ่งหนึ่งแต่ประมาณแห่งภูเขาสิเนรุไปตามลำดับ ภูเขาใหญ่ทั้ง 7 นั้น (ตั้งอยู่) โดยรอบ ภูเขาสิเนรุเป็นที่อยู่ของจาตุมหาราช เป็นที่ที่เทวดาและยักษ์อาศัยอยู่
ภูเขาหิมวาสูง 500 โยชน์ ยาวและกว้าง 3,000 โยชน์ (เท่ากัน) ประดับไปด้วยยอดถึง 84,000 ยอด ต้นชมพู (หว้า) ชื่อนคะ วัดรอบลำต้นได้ 15 โยชน์ ลำต้นสูง 50 โยชน์ และกิ่ง (แต่ละกิ่ง) ก็ยาว 50 โยชน์ แผ่ออกไปวัดได้ 100 โยชน์โดยรอบ และสูงขึ้นไปก็เท่ากันนั้น ด้วยอานุภาพของต้นชมพู (นี้) ไรเล่า ทวีปนี้จึงถูกประกาศชื่อว่า ชมพูทวีป ก็แลขนาดของต้นชมพูนี้ใด ขนาดนั้นนั่นแหละเป็นขนาดของต้นจิตรปาฏลี (แคฝอย) ของพวกอสูร ต้นสิมพลี (งิ้ว) ของพวกครุฑ ต้นกทัมพะ (กระทุ่ม) ในอมรโคยานทวีป ต้นกัปปะในอุตตรกุรุทวีป ต้นสิรีระ (ซึก) ในบุพพวิเทหทวีป ต้นปาริฉัตตกะในดาวดึงส์...”
ที่มาของข้อมูล : http://frynn.com/กระทุ่มบก
http://www.thaikasetsart.com/
http://www.doctor.or.th/article/detail/1920
http://www.biogang.net/biodiversity_view.php?
menu=biodiversity&uid=27700&id=159782
http://www.kroobannok.com/53976
http://www.dnp.go.th/botany/detail.aspx?words=%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1&typeword=group
http://www.doctor.or.th/article/detail/1920
http://www.biogang.net/biodiversity_view.php?
menu=biodiversity&uid=27700&id=159782
http://www.kroobannok.com/53976
http://www.dnp.go.th/botany/detail.aspx?words=%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1&typeword=group